วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤตการศึกษาของไทยในสายตาครูต่างชาติ



   
       ฉันสอนในเมืองไทยมามากกว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ฉันได้เรียนรู้ว่า ระบบการศึกษาไทยนั้นมีลักษณะดังนี้...
1. งบประมาณที่สนับสนุนการศึกษานั้นมีน้อยเกินไป
2. ขนาดห้องเรียนที่ใหญ่เกินไป (ห้องหนึ่งประมาณ 50 คน)
3. การฝึกอบรมครูที่มีระบบการฝึกที่แย่
4. นักเรียนที่เกียจคร้านจนทำให้สอบตก แต่ครูก็จำเป็นต้องยอมให้นักเรียนสอบผ่าน

         ทั้งหมดนี้ฉันรู้สึกว่า มันดูไม่มีหวังที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ ฉันสอนที่โรงเรียนเอกชน 2 ภาษา ดังนั้นจึงอาจจะพบเจอปัญหาน้อยกว่าโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป ถึงอย่างไรก็ตาม โรงเรียนเอกชนก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งฉันคิดว่าเป็นองค์กรที่ขาดความสามารถมากที่สุดในโลก กฏระเบียบต่างๆ ถูกเปลี่ยนทุกเทอม และถึงแม้นักเรียนจะสอบตก ครูก็ต้องจำยอมให้นักเรียนสอบผ่าน รวมไปถึงปัญหาการคัดลอกงานมาส่งก็เป็นเรื่องที่ครูไม่ค่อยใส่ใจ



       ในทุกๆ ปี กระทรวงศึกษาธิการมักนำเสนอความคิดใหม่ๆ ที่จะใช้พัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย อย่างปีนี้ก็บังคับให้ครูต่างชาติทุกคนต้องไปลงเรียนคอร์สวัฒนธรรมไทยทั้งๆ ที่ครูต่างชาติหลายคนก็อยู่เมืองไทยมานานและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทยเป็นอย่าง ดีแล้ว โดยมีกฏบังคับว่า หากไม่ลงคอร์สเรียนวัฒนธรรมไทย จะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาติทำงานเป็นครูได้ ซึ่ง ค่าเรียนนั้นอยู่ที่ประมาณ 3,300-9,000 บาท และครูคนนั้นต้องเป็นผู้จ่ายเอง มีครูต่างชาติจำนวนมากยืนยันที่จะไม่ไปลงเรียนคอร์สนี้ บางคนถึงกับตัดสินใจเลิกสอนในเมืองไทยและไปสอนที่ประเทศอื่นแทน เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น
           เท่าที่ฉันรู้ ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครูต่างชาติได้รับเงินเดือนเยอะกว่าสอนที่ไทย รวมถึงการจะได้รับใบอนุญาติทำงานเป็นครูและวีซ่าทำงานนั้นก็ไม่ยากเหมือน เมืองไทย โดยปกติแล้ว ชาวต่างชาติที่ไม่มีวีซ่าทำงานจะอยู่ในเมืองไทยได้ 3 เดือนในสถานะนักท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อครบ 3 เดือนแล้ว ก็ต้องเดินทางออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา แล้วจึงกลับเข้ามาไทยใหม่อีกรอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจมาก ดังนั้นครูจำนวนมากตัดสินใจไปสอนที่ประเทศอื่นดีกว่า



         พูดตามตรง ฉันคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรที่แย่ที่สุดของรัฐบาลที่ฉันเคยทำงาน ร่วมด้วย มีครั้งหนึ่งในระหว่างที่สอนในโรงเรียนเก่า ฉันเคยช่วยเหลือคุณครูวิชาคอมพิวเตอร์คนหนึ่ง สาเหตุมาจากกว่า คุณครูคนนี้ถูกเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการต่อว่าเรื่องการสอนเด็กทำ การ์ดวันแม่ เพราะดันสอนเด็กเขียนภาษาอังกฤษบนการ์ดอย่างผิดๆ หรือ แม้แต่บางครั้ง ฉันก็เคยได้รับจดหมายหรือแบบฟอร์มจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไวยากรณ์ที่ใช้นั้น เล่นเอาทำฉันอยากจะโยนทิ้งลงถังขยะซะจริงๆ
         ตอนนี้ประเทศไทยประสบวิกฤติด้านการศึกษาอย่างหนัก นัก เรียนไทยไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะในโรงเรียนรัฐบาล ห้องหนึ่งมีนักเรียนมากกว่า 50 คน เด็กส่วนมากก็หลับในห้องเรียน ครูก็ไม่ได้สนใจว่านักเรียนฟังที่ครูสอนมั้ย หนังสือและอุปกรณ์การเรียนการสอนก็มีจำกัด เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็แทบไม่มี เงินเดือนสำหรับครูต่างชาติก็ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นครูต่างชาติในโรงเรียนรัฐบาลไทย มักจะเป็นผู้ชายฝรั่งมีอายุที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัยจริงๆ หรอก 
         ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาในประเทศใกล้เคียง เช่น เวี ยดนาม มาเลเซีย เกาหลี และจีน ต่างก็ก้าวกระโดดไปแล้ว แต่ประเทศไทยดูจะร่วงลงทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ .... องค์กรและกระทรวงต่างๆ ในไทยจะถนัดแต่การออกกฏระเบียบใหม่ๆ แต่ไม่รู้วิธีจัดการกฏระเบียบนั้นให้ได้ประสิทธิภาพ สำหรับในความคิดของฉัน สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ....




1. กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญกับครูต่างชาติ ครูทุกคนควรจะต้องจบระดับมหาวิทยาลัย และต้องได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรอบรมครูหรือที่เรียกว่า TEFL 
2. ควรเพิ่มเงินเดือนให้แก่ครูทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะทุกวันนี้เงินเดือนของครูนั้นน้อยมากๆ และไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานานแล้ว 
3. เรื่องใบอนุญาตการทำงานเป็นครู ทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องที่วุ่นวายมาก แต่ที่เกาหลี ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นนั้น การที่ชาวต่างชาติจะได้ใบอนุญาตทำงานเป็นครูนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก แถมยังให้เงินเดือนมากกว่าที่ไทยด้วย ถ้าหากยังยุ่งยากต่อไปแบบนี้ ต่อไปใครจะอยากมาทำงานเป็นครูที่ไทย ?

        สุดท้าย ฉันรู้สึกว่า ระบบการศึกษาของไทยน่าจะยังคงแย่แบบนี้ต่อไปอีกนาน และดูไม่มีทีท่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววันนี้ สังคมไทยดูเป็นสังคมที่ทำอะไรแบบผักชีโรยหน้าในทุกๆ เรื่อง กระทรวงศึกษาธิการไม่ค่อยฟังเสียงของครูทั้งๆ ที่ครูเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าการศึกษาไทยเป็นยังไง ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จำนวนครูต่างชาติในไทยน่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ ฉัน รู้สึกสงสารเด็กไทยมาก เพราะนอกจากจะใช้ภาษาอังกฤษไม่ถูกต้องแล้ว ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าเด็กไทยจำนวนมากก็ยังอ่อนวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดของตนเองอีก ด้วย



ข้อมูลจาก www.dek-d.com/

 นโยบายรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิก่ารคนใหม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบาย
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางเข้าสักการะพระพุทธรูป ศาลพระภูมิประจำกระทรวงศึกษาธิการ และอนุสาวรีย์ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 โดยมีผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการ ให้การต้อนรับ

จากนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการ โดยนายพงศ์เทพ กล่าวว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ แต่การศึกษาไทยต้องยอมรับว่ายังไม่เป็นที่พอใจ จากการประเมินการสอบของเด็กไทยกับนานาชาติ เรียนมากแต่รู้น้อย ทำให้สู้กับเด็กประเทศอื่นไม่ได้ ดั้งนั้นนโยบายที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การปฏิรูปหลักสูตรทุกระดับให้ตรงกับความต้องการ และปลูกฝังเรื่องคุณธรรม ปลูกจิตสำนึกในเรื่องประชาธิปไตย การสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ด้อยโอกาสและเข้าถึงเด็กที่ยากจนให้ มากกว่านี้ นอกจากนี้จะต้องใช้การศึกษา นำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ และต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ส่วนการบริหารทั่วไปให้ยึดหลักการระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี สุจริตโปร่งใส ไม่คอรัปชั่น

ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะเร่งผลักดันและ สนับสนุนให้ได้เลื่อนเงินเดือนอย่างลื่นไหล จะช่วยผลักดันโครงการครูคืนถิ่นให้เป็นไปตามไปตามเป้าหมายของโครงการ ขณะเดียวกันจะติดตามการเลื่อนวิทยฐานะของครูจะให้ได้รับการพิจารณาโดยอยาก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาช่องทางในการช่วยเหลือ ดูแลผู้เกษียณให้ได้รับเงินค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม ส่วนเรื่องของเด็กนักเรียนให้เน้นในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปกับการ เรียนการสอนด้วย.
ข้อมูลจาก http://www.vec.go.th/default.aspx?tabid=103&ArticleId=701

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น