สพฐ.'สนองเต็มที่ทำ 5หลักสูตรมีงานทำ (15 ก.ย.54) | ||
นาย ชินภัทร ภูมิรัตน เลขา ธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดให้ตอบสนองต่อ นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ต้อง การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยให้จัดหลักสูตรตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น สพฐ.จึงเตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ออกมาเป็น 5 รูปแบบ ที่เหมาะสมกับ รร.ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวจะอยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างหลักสูตรฉบับปัจจุบันกำหนดสัดส่วนเวลาเรียน โดยแบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนร้อยละ 70 และ การฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียนร้อยละ 30 ซึ่งอาจ ไม่เหมาะสมกับ รร.ในชนบท เพราะนักเรียนตามชนบทเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้วไม่ได้มุ่งเข้าสู่ มหาวิทยาลัยทุกคนเหมือนนักเรียน รร.ในเมือง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาการมากเกินจำเป็น แต่ควรเน้นฝึกปฏิบัติเพื่อให้เขามีทักษะความรู้ติดตัวสามารถใช้ประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้หลังจบการศึกษา เลขาฯ กพฐ.กล่าวต่อว่า โครง สร้างเวลาเรียนใหม่ทั้ง 5 รูปแบบนั้น จะมีการกำหนดสัดส่วนเวลาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนลดหลั่นกันไป เริ่มตั้งแต่ 70-30 และจะทยอยลดสัดส่วนการเรียนวิชาการลงจนเหลือ 30-70 ในรูปแบบสุด ท้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลดเวลาเรียนวิชาการลง อาจต้องบูร ณาการการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาไว้ด้วยกัน เพื่อประหยัดชั่วโมงเรียน จาก 8 กลุ่มสาระวิชา อาจเหลือ บูรณาการแค่ 5 กลุ่ม ในบางรูปแบบ เบื้องต้น รร.ก็จะเป็นผู้พิจารณาเลือก เองว่า จะจัดการเรียนการสอนตาม รูปแบบใดเพื่อให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่นั้นๆ แต่เพื่อไม่ให้เป็นภาระ แก่ รร.และครูมากเกินไป สพฐ.ได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตร ฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สวก.) ไปจัดทำตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนของแต่ละรูปแบบออกมาเป็นแนวทางให้ รร.นำไปประยุกต์ใช้ โดยจะทำเป็นคู่มือแจกไปตามสถานศึกษา และเตรียมดำเนินการตามนโยบายนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 "ความคาดหวังของ ศธ.นั้น ไม่ได้ต้องการให้นักเรียนที่จบมัธยมมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยทุกคน แต่ ต้องการให้สามารถนำเอาความรู้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้นรูปแบบการจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลาย เราไม่ต้องการให้เด็กเรียนอยู่ในบล็อกเดียวกัน คือเน้นเรียนวิชาการเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและเป็นการลงทุนทางการศึกษาที่ไม่คุ้ม ค่า เด็กต้องเรียนไปเพื่อทำ งาน ไม่ใช่เรียนจบไปรองาน" นายชินภัทรกล่าว. ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ สาระสำคัญ : ศึกษาธิการ * สพฐ.เตรียมจัดทำหลักสูตรจบไปมีงานทำ สนอง รมว.ศธ. "ชินภัทร" ระบุเป็น 5 หลักสูตรใหม่อยู่ภายใต้หลักสูตรแกนกลาง แล้วแต่โรงเรียนจะเลือก จุดเปลี่ยนหลักๆ หดเรียนในห้องเหลือ 30% อีก 70% เป็นฝึกงานล้วนๆ | ||
|
เตือนหลักสูตร 30/70 ได้แค่แรงงานไร้กึ๋น
เตือนหลักสูตร 30/70 ได้แค่แรงงานไร้กึ๋น (ไทยโพสต์)
"สุขุม" เตือน สพฐ.ควรระมัดระวังหลักสูตร 30/70 จบแล้วมีงานทำ เรียนวิชาการน้อยแค่ 30% อาจทำให้เด็กมีปัญหา ไม่มีความรู้พื้นฐานสำคัญติดตัว ต่อไปจะกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ "ด้านสมพงษ์ จิตระดับ" ชี้ สพฐ.ไม่ควรบ้าจี้ ตาม รมว.ศธ.ใหม่ ห่วงรื้อหลักสูตรใหม่ เรียนทฤษฎีแค่ 30% จะทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง แนะให้คงอัตราไว้ที่เดิม แต่เพิ่มความเข้มข้นจะดีกว่า ชี้เรื่องการศึกษาตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีความเป็นพลเมือง และลักษณะความเป็นมนุษย์ด้วย พร้อมเสนอหลักสูตร 30:40:30 กลับไปให้ สพฐ.ด้วย
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะหนึ่งในกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึง การเตรียมปรับโครงสร้างเวลาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยทำเป็น 5 รูปแบบ มีสัดส่วนเวลาเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนและภาคปฏิบัตินอกห้องเรียนลดหลั่นกัน ไป เริ่มตั้งแต่สัดส่วน ร้อยละ 70:30, 60:40, 50:50 และจะทยอยลงจนเหลือ 30:70 ในรูปแบบสุดท้าย เพราะต้องการลดการเรียนวิชาการลงเพิ่มการฝึกปฏิบัตินอกห้องโดยให้โรงเรียน เป็นผู้พิจารณาเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ว่า ตนมองว่าหาก สพฐ.จะทำรูปแบบให้เลือกนั้น ควรให้พ่อแม่และนักเรียนเป็นผู้เลือกจะเหมาะสมกว่า นั่นเพราะพ่อแม่แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน
เพราะบางคนต้องการให้ลูกมีพี้นฐานความรู้ทางวิชาการมากเพื่อต่อยอดในการ ศึกษาต่อในระดับปริญญา ขณะที่บางคนก็ไม่ได้มุ่งเน้นวิชาการแต่อยากเน้นเรื่องการนำความรู้ไปสู่การ มีงานทำได้เลย แต่หาก สพฐ.จะให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ตนเห็นว่าโรงเรียนก็ควรจะต้องทำหลายรูปแบบเพื่อให้เด็กได้เลือกตามที่ต้อง การมากกว่าจะเลือกให้เอง และ สพฐ.ต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนมีจำนวนมาก และในแต่ละพื้นที่ก็มีหลายโรงเรียนเช่นเดียวกัน ดังนั้นควรจะกำหนดทิศทางให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุขุมได้กล่าวเตือนถึง การลดวิชาการในหลักสูตรรูปแบบสุดท้ายเหลือเพียงร้อยละ 30 นั้น สพฐ.ต้องให้ความระมัดระวัง ต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องวิชาการในส่วนนี้ อะไรที่เป็นวิชาการที่สำคัญ เด็กจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ติดตัวเพื่อนำไปใช้ต่อยอดการประกอบอาชีพก็ ต้องทำอย่างเข้มข้น ไม่ใช่กำหนดแนวทางไปแล้ว ก็ปล่อยให้ลื่นไหลไปคนละทางไม่เช่นนั้นเด็กที่จบออกไปจะกลายเป็นแรงงานที่ ไม่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือการต้องสร้างความเข้าใจต่อครูผู้สอน และพ่อแม่ของนักเรียนให้ดีด้วยถึงแนวทางดังกล่าว
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวที่จะวิชาภาคปฏิบัติมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 และเหลือวิชาภาคทฤษฎีร้อยละ 30 เพราะเด็กในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจะได้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาเป็นหลัก เพื่อจะได้รู้ศักยภาพของตัวเองในการเลือกเรียนในระดับที่สูงกว่า และทำงานต่อไป อีกทั้งการสอนภาคปฏิบัติของไทยจากเดิมกำหนดร้อยละ 30 ครูก็ยังทำไม่เป็นเลย ทั้งนี้ หากจะมีการรื้อปรับหลักสูตรเพื่อให้มีงานทำควรจะเริ่มที่ระดับอาชีวศึกษาและ อุดมศึกษาจะดีกว่า
"สพฐ.จะต้องไม่บ้าจี้ไปกับนักการเมืองที่ต้องการจะให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอย่างเดียว เพราะการศึกษายังมีเรื่องของความเป็นมนุษย์ คุณลักษณะของพลเมืองที่ดีด้วย ดังนั้น ควรจะกลับไปดูว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะได้เรียนใน ทุกกลุ่มสาระ ทั้งนี้ ผมก็เห็นด้วยหาก รมว.ศึกษาธิการต้องการจะปฏิรูปหลักสูตร เพราะมันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว แต่ไม่ใช่มาเปลี่ยนอย่างนี้" อ.จุฬาฯ กล่าว และว่า นอกจากนี้ตนก็มีข้อเสนอการกำหนดอัตราส่วนหลักสูตรกลับไปให้ สพฐ.ด้วย โดยให้แบ่งเป็น 30:40:30 ได้แก่ เรียนจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ที่มีเนื้อหาเรื่องอาเซียน สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ทันยุคทันสมัยในร้อยละ 30 เรียนรู้จากภาคทฤษฎีตาม 8 กลุ่มสาระเหมือนเดิมร้อยละ 40 และเรียนรู้จากภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้นร้อยละ 30 เหมือนเดิม.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://education.kapook.com/
ในความคิดของผู้เขียนขอเสนอแนะว่า...
ตอบลบเราต้องเตรียมความพร้อมของครูของเรา ในการผลิตสื่อการสอน ข้อสอบออนไลน์ ให้ครูเราสามารถใช้ social network ที่ให้บริการฟรี ๆ อยู่มากมายได้
-ในขณะเดียวกันต้องเตรียมนักเรียนของเราในทุกระดับชั้น ให้มีความรู้ สามารถใช้ social network ได้อย่างชำนิชำนาญเช่นเดียวกัน
-เตรียมหลักสูตรการฝึกอบรมในรูปแบบผลิตสื่อรายวิชาแก่บุคลากร
-เตรียมนักเรียนพี่เลี้ยงหรือครูพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในการผลิตสื่อออนไลน์ของคมงผู้เข้ารับการอบรม
-เตรียมวิทยากรในรูปทีมงานประกอบด้วยครูและนักเรียนผู้ช่วย
-แนะนำชี้แจงให้บุคลากรรับทราบ และลดความหนักอกหนักใจ
ด้วยการมีนักเรียนพี่เลี้ยงประกบและให้ความช่วยเหลือตลอดการอบรม
-เตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ตามจำนวนผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละรุ่น
ถึงเวลาแล้วนะครับที่ครูและนักเรียนเราจะก้าวสู่การเรียนการสอนแบบสังคมออนไลน์ ซึ่งมีบริการฟรีมากมายรอให้บริการพวกเราอยู่ โดยไม่ต้องลงทุนใด ๆ
-พัฒนากันเถอะครับทั้งครูและนักเรียน ทุ่มงบลงไปพัฒนากันอย่างจริงจัง ให้ชะลอการซื้อ รื้อ ยุบ ทุบ สร้าง เอาไว้ก่อนครับ
มุ่งเตรียมบุคลากรของพวกเราก้าวสู่การจัดการเรียนการสอน
แบบ 30:70 หรือ 50:50 หรือแม้กระทั่ง 70:30 ก็ใช้ประโยชน์ได้ดีทุกรูปแบบนะขอรับ