วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

7 ปีทำบัตรประจำตัวประชาชนเริ่มบังคับ 9 ก.ค. 2554

เตือนพ่อแม่พาลูกอายุ 7 ปี ไปทำบัตรประชาชน กฎหมายบังคับใช้ 9 ก.ค. นี้

วันที่ 11 พ.ค. 2554 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (วันที่ 9 กรกฎาคม 2554 )
       สาระสำคัญของกฎหมายคือ การกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
       ทั้งนี้ บัตรให้ใช้ได้นับแต่วันออกบัตรและมีอายุแปดปีนับแต่วันเกิดของผู้ถือบัตรที่ ถึงกำหนดภายหลังจากวันออกบัตร
        บัตรที่ยังไม่หมดอายุในวันที่ผู้ถือบัตรมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้ตลอดชีวิต
        สำหรับอัตราค่าธรรมเนียม
(1) การออกบัตร ฉบับละ 100 บาท
(2) การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ 10 บาท
(3) การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 10 บาท
        เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทย ทุกคนต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไว้ใช้แสดงตนเพื่อประโยชน์ในการเข้ารับบริการสาธารณะของรัฐ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รัฐจะนำ เทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชนในด้านต่าง ๆ ผ่านทางบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อประโยชน์ของผู้ถือบัตรประจำตัวประชาชน
        ก่อนหน้านี้มีเสียงจากสภาแว่วมาดังๆ ว่า ได้มีการพิจารณารับร่าง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื้อความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้ คือจะแก้กฎหมายให้เด็กที่เกิดมามีอายุครบ 1 ปี นับแต่วันเกิด หรือ 60 วัน นับแต่วันได้สัญชาติไทย สำหรับผู้ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยตามกฎหมายว่า ด้วยสัญชาติ ต้องมีบัตรประชาชน นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า ให้ใช้บัตรนั้นได้นับแต่วันออกบัตรและมีอายุ 10 ปีนับแต่วันเกิดของผู้ถือบัตร รวมทั้งตัดเงื่อนไขการมีชื่อในทะเบียนบ้านออก
      ท้ายที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 222 ต่อ 81 เสียง งดออกเสียง 5 และไม่ลงคะแนน 13 เสียง
      นั่นแสดงว่าหากแก้กฎหมายใหม่นี้สำเร็จ เด็กที่มีอายุไม่ถึง 15 ปี ต้องเดินหน้าเข้าคิวไปทำบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีค่าธรรมเนียมทำบัตรอยู่ ที่ 60 บาท และหากเด็กคนใดไม่ไปทำบัตรผู้ปกครองก็จะถูกปรับเงิน 500 บาท นั่นคือกฎเกณฑ์บังคับเบื้องต้น
        บัตรเด็กนี้อาจจะแตกต่างออกไป เพราะนอกจากจะมีรายการตามที่กำหนดไว้แล้ว อาจจะมีหน่วยความจำ เพื่อบันทึกข้อมูลอื่นของผู้ถือบัตรด้วย แต่ข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำดังกล่าว ต้องไม่สามารถเปิดเผยต่อบุคคลหรือหน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้จัดทำ หรือรวบรวมข้อมูลนั้น ๆ ไว้ เว้นแต่เป็นข้อมูลทั่วไปที่ปรากฏอยู่บนบัตร หรือเป็นการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลนั้นเท่าที่จำเป็น เพื่อเป็นประโยชน์ของผู้ถือบัตร และระบุระยะเวลาการบังคับใช้ในวาระเริ่มแรก แต่ไม่เกิน 2 ปี นับแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ บังคับใช้
          เมื่อข่าวนี้แพร่งพรายออกไป ต่างมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายคนออกมาค้านว่าจะเกิดช่องโหว่ให้มิจฉาชีพอาศัยช่องทางสวมสิทธิทำบัตรประชาชนปลอมได้ง่าย เพราะไม่ต้องมีหลักฐานในทะเบียนบ้าน รวมถึงกรณีที่เด็กเล็กอายุ 1 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปมาก และหากมีปัญหาสุดท้ายก็ต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองมารับรองอยู่ดี จึงน่าจะยึดสูติบัตรตามเดิมจะได้ไม่เสียงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งงบประมาณส่วนตัวหรืองบประมาณส่วนกลางด้วย
          แม้แต่บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดของคนอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ยังเกิดปัญหาถกเถียงกันยังไม่มีข้อสรุป กระทรวงมหาดไทยหัวหอกสำคัญของเรื่องนี้ยังจะเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับตัวเอง และสังคมไปอีกหรือ การเกิดของบัตรประจำตัวประชาชนเด็กจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของใคร อย่างไรกันบ้าง
          วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่มีต่อการเกิดของบัตรประจำตัวประชาชนเด็ก เขาแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ที่ทำงานข้องเกี่ยวกับเด็กมาเนิ่นนานว่า ไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ และหากเกิดขึ้นจริงก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ก็จะเป็นปัญหาตามมาเช่นกัน เนื่องจากเด็กวัยนี้ตามปกติก็จะมีอัตราการเสียชีวิตเยอะอยู่แล้ว อัตราการตายของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ที่ปีละประมาณแสนคน
        “พอมีการตายเกิดขึ้นก็จะมีการสวมรอยของพวกมิจฉาชีพในการไปสวมชื่อได้ง่าย แล้วงบประมาณที่เอาไปใช้ทำบัตรจะจำนวนเท่าไหร่ จะคุ้มกันไหมจึงไม่มีความจำเป็นเลย ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะรูปแบบเดิมก็ใช้ได้ดีอยู่แล้ว เมื่อทำแล้วใครจะไปพกให้เด็กก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ดี ทำแล้วเป็นระบบออนไลน์หรือเปล่า ซึ่งเอกสารที่เรามีอยู่ก็ออนไลน์อยู่แล้ว หากอ้างเพื่อการรักษาพยาบาลเพราะมีเลข 13 หลัก ซึ่งใบเกิดก็มีเลข 13 หลักได้มันไม่ได้มีประโยชน์มากกว่าเดิม แต่จะเป็นการเปลืองทรัพยากรมากกว่า ทำแล้วคุ้มก็ดีแต่มองว่าตอนนี้ถึงทำไปก็ไม่คุ้ม”
           ครูหยุยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยและอธิบายถึงข้อมูลพื้นฐานและความสำคัญของสูติบัตรให้ฟังว่า โดยปกติเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะได้รับการแจ้งเกิด ส่วนเรื่องที่ว่าเด็กคนนั้นจะเป็นไทยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตามกฎหมายเมื่อเด็กเกิดมาก็จะมีใบเกิดหรือสูติบัตรออกมาให้อยู่แล้ว
            “มีสูติบัตรก็เพื่อบอกว่า เด็กคนนี้เป็นคนไทย ชื่อนี้มีแม่เป็นญวน ใบรับแจ้งเกิดเราก็ใช้กันมาตลอด พอถึงเวลาก็เอาสูติบัตรไปเข้าชื่อในทะเบียนบ้าน และพอถึงอายุเข้าวัยเรียนคือ 6 ขวบ ก็จะมีจดหมายจากเขตหรืออำเภอบอกว่าลูกของบ้านนี้อยู่ในวัยเรียนแล้วต้องไป เรียน เพราะกฎหมายการศึกษาภาคบังคับบอกว่าถ้าไม่มาเรียนจะผิดกฎหมาย ซึ่งประโยชน์มันก็ใช้ได้เหมือนกัน”
         หลังจาก ทิพย์สุดา (ขอสงวนนามสกุล) คุณแม่มือใหม่เมื่อได้ฟังแนวคิดบัตรประชาชนเด็ก ก็ถึงกับส่ายหัวในทันใดเพราะเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้นสำหรับเธอ
         “แค่นี้ก็ปวดหัวมากแล้วนะ ไหนจะเลี้ยงลูก ไหนจะต้องจัดการเอกสาร ทำงานหาเงิน ถ้าครอบครัวที่เขาพร้อมก็คงจะโอเค ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่กับครอบครัวที่มีลูกในช่วงเวลาไม่พร้อมอย่างเรา การที่ต้องมานั่งศึกษา มารักษาสิทธิให้ลูกตัวเองเพิ่มอีก มันยิ่งเหนื่อยนะ แล้วก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เด็กในวัยนี้แป๊บๆ เดี๋ยวก็โตแล้ว แล้วบัตรเด็กก็พกเองไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องพ่อแม่ดูแลรับผิดชอบนั่นแหละ” ทิพย์สุดาร่ายยาว
          ไม่ต่างกับหนุ่มน้อยที่เพิ่งเปลี่ยนคำนำหน้านามจากเด็กชายมาเป็น 'นาย' ครั้งแรกอย่าง ณัฐพล แซ่ตั้ง ที่เพิ่งถอยบัตรประชาชนมาหมาดๆ ก็รู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับกฎเกณฑ์ใหม่นี้
          “จะมีไปทำไมครับเด็กขนาดนั้น คือบัตรนี่มันทำให้คนรู้ว่าเราโตขึ้นมาอีกขั้นนึง เป็นนายแล้ว ต้องทำอะไรเอง มีความรับผิดชอบเองมากขึ้นแต่เด็ก 1 ขวบ จะเอาไปใช้อะไรครับ ยังจำความไม่ได้เลย”

แหล่งที่มา : มติชนออนไลน์  : 12-05-2554 09:28 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น