วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“ไพฑูรย์” หวังไทยขึ้นแท่นความเป็นพลโลก จี้ทบทวนตำราใหม่ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทย-เทศ

รองอธิการฯ มธบ. แนะ หนุนเสริมความรู้ให้กับเด็ก หวั่นเดินตามกระแสชาติตะวันตกมากเกินไป ขณะที่ “วรากรณ์” ชี้ พลเมืองในระบอบ ปชต. ต้องรู้จักพึ่งตนเอง เคารพสิทธิ์-กติกา-ความคิดเห็นที่แตกต่าง
วันที่ 19 พฤษภาคม เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลาง เพื่อพัฒนาบัณฑิตอุดมคติไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “บทบาทของวิชาศึกษาทั่วไปในการสร้างพลโลก” ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
        รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงคุณลักษณะของพลโลกที่มีประสิทธิภาพในศตวรรษที่ 21 ว่า จะต้องเริ่มต้นจากความเป็นพลเมือง ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตย พลเมืองจะต้องมีอิสรภาพ พึ่งตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น เคารพกติกา เคารพความแตกต่างและหลักการเสมอภาค รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนถูกเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี การขยายตัวของเศรษฐกิจ กระทั่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อโลกร่วมกันของมวลมนุษย์ และนั่นถือเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นพลเมืองโลก
      สำหรับการพัฒนาความเป็นพลเมืองโลกนั้น รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะต้องสอนนักศึกษา พัฒนาบัณฑิตให้มีความเป็นพลเมืองโลก โดยมีคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองของประเทศ ควบคู่ไปกับความรู้สึกห่วงใย ผูกพันต่อเพื่อนมนุษย์และโลก มีความรับผิดชอบ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลก ซึ่งความเป็นพลเมืองโลกดังกล่าว จะต้องเกิดจากการเรียนการสอน ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เพราะการสอนอย่างเดียว ไม่นานก็ลืม แต่ประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ จะจดจำไปตลอดชีวิต
ขณะที่ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มธบ.กล่าวถึงบทบาทของวิชาศึกษาทั่วไปในการสร้างพลเมืองโลกว่า การเรียนรู้เรื่องความเป็นพลเมืองโลกจะต้องมองในมิติที่กว้างขวางและเริ่มทำ อย่างจริงจัง โดยเรียนรู้และเข้าใจปัญหาของโลก มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของโลกอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ รู้ว่า โลกที่อยู่เป็นไปอย่างไร เพื่อจะได้ตามทันโลก มีทักษะและมีความสามารถที่จะอยู่กับโลกได้
      “การที่จะรู้จักโลกต้องมีความรู้ ความคิด เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงว่า เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก แต่กลับพบว่า ไม่มีรายวิชาที่เปิดสอนในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น ควรจะมีการทบทวนวิชาศึกษาทั่วไปใหม่หรือไม่ เพื่อให้เด็กตามทันโลกอย่างมีความคิด เสรีภาพและค่านิยมที่ไม่ใช่ในลักษณะของการติดตาม หมุนหรือเดินไปตามกระแสของความเป็นตะวันตกตลอดเวลา”
ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า วิชาศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองโลกในบ้านเรา น่าจะต้องก้าวไปไกลอีกขั้นหนึ่ง เพื่อฉีกแนวและแหวกวงล้อมของกระแสโลกออกไปให้ได้ ขณะเดียวกันวิชาศึกษาดังกล่าว จะต้องเป็นไปในเชิงบวก ตามแนวทางของ ‘KTPL’ นั่น คือ ความรู้ (Knowledge) จะต้องเพิ่มเติมในส่วนของกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับระเบียบการเมืองของโลก ว่า มีการครอบงำ (dominate) จากกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง

     “โอซามา บินลาเดน, มูอัมมาร์ กัดดาฟี, ซัดดัม ฮุดเซน รวมทั้งประเทศเกาหลีเหนือถูกทำให้เห็นว่าเป็น ‘คนเลวของโลก’ แต่ในทางกลับกันก็พบว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการที่ชาติพันธมิตรเข้าปฏิบัติการณ์ในประเทศ ลิเบีย อิรัก หรือในกรณีบินลาเดน มุมหนึ่งอาจถูกมองเป็นผู้ร้าย แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นเทวดาของใครหลายคน ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้เราต่อต้านชาติตะวันตก เพียงแต่ต้องการให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความเป็นพลเมืองโลกอย่างลึกซึ้ง”
ขณะที่การคิดวิเคราะห์หาเหตุผล (Thinking) ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า เด็กส่วนใหญ่จะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เดินตามกระแส หรือเดินตามเส้นทางที่ถูกขีดไว้เท่านั้น ดังนั้น หากต้องการสร้างความเป็นพลเมืองโลกจะต้องมีการปรับวิธีคิดดังกล่าว ส่วนการสร้างสิ่งใหม่ (Production) ในบ้านเราพบว่ามีไม่มากนัก เนื่องจากไทยเป็นสังคมแหล่งการบริโภค ไม่นิยมในการผลิตหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าประเทศเกาหลีพัฒนาได้ก็เพราะแนวคิดเรื่องการ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่ใช่แค่การกิน หรือใช้เท่านั้น แต่นั่นหมายถึงสติปัญญาและความรู้ สุดท้ายการสร้างภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) จะต้องสอนให้เด็กมองความรับผิดชอบว่าเป็นภาวะของผู้นำ
ทั้งนี้ ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า การศึกษาที่จะช่วยสร้างพลเมืองที่มีคุณค่าและมีความหมาย จะต้องสอนโดยให้ความรู้เข้าใจว่า สภาพการณ์ของโลกมีที่มาที่ไปอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร โดยสอนประวัติศาสตร์อย่างวิเคราะห์วิจารณ์ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของไทยเข้ากับประวัติศาสตร์ของโลก หากต้องการความเป็นพลโลก ไม่ใช่แค่ตามกระแสทัน

ข้อมูลจาก http://www.reform.or.th/news/665

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น